พลาสติก…ตายแล้วไปไหน?

47686961_280047929226130_8675611089246879744_o.jpg

คนไทยใช้ถุงพลาสติก 123 ล้านใบต่อวัน กว่า 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี นี่ยังไม่รวมถึงขวดน้ำ และขยะพลาสติกของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ 
.
"พลาสติกตายแล้วไปไหน?"
.
ตามไปดูเส้นทางและพิธีกรรมการตายของพลาสติกว่าหลังจากหลุดจากมือเราไปแล้วมันไปอยู่ที่ไหนบ้าง?


47396846_280047979226125_6963245020316958720_o.jpg

คนไทยสร้างขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตันในแต่ละปีหรือคิดเป็น 20% ของปริมาณขยะทั้งหมด (กรมควบคุมมลพิษ 2561) แต่น่าเสียดายที่พลาสติกส่วนใหญ่ เมื่อถูกใช้เสร็จก็กลายเป็นขยะเอาไปกำจัดโดยการฝังกลบ 

พลาสติกแต่ละชนิดมีระยะเวลาในการย่อยสลายในหลุมฝังกลบแตกต่างกัน พลาสติกใสจำพวก PET อาจใช้เวลาย่อยสลายเพียง 10 ปีภายใต้สภาวะที่เหมาะสม (โปรดฟังอีกครั้ง! ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม) คือมีอุณหภูมิและความดันสูง

ในขณะที่พลาสติกขุ่นหรือ PP อาจใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 1000 ปี แต่โดยเฉลี่ยแล้วพลาสติกทั่วไปจะใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 200-450 ปีในหลุมฝังกลบ

47373542_280047985892791_5360235209654534144_o.jpg

แต่อย่าคิดว่ามันไปฝังกลบแล้วจะไม่มาหลอกเราอีก เพราะหากเป็นหลุมที่ไม่ได้คุณภาพหรือหลุมฝังกลบที่ทำกันเองในชุมชน ไม่มีการปูรองที่ก้นหลุมหรือทางระบายน้ำเสียก็อาจจะมีสารพิษก่อมะเร็งอย่าง Biphenol A หรือที่เรารู้จักกันว่า BPA ปนเปื้อนสะสมอยู่ในผืนดินหรือซึมผ่านสู่แหล่งน้ำใต้ดินได้

หลุมฝังกลบที่มีการจัดการก็กินพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้เราต้องหาที่ดินเพิ่งทุกปีเพื่อทำเป็นถังขยะของประเทศ

การเผาเป็นการจัดการขยะพลาสติกให้หายไปอย่างรวดเร็ว หลายพื้นที่เช่นเกาะ หรือประเทศที่ยังไม่พัฒนาก็มีการนำพลาสติกมาเผาเป็นพลังงานแทนไม้หรือฟืนด้วย เพราะเป็นทรัพยากรที่หาได้ทั่วไป แต่ควันจากการเผาพลาสติกถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพสุดๆ ไอของพลาสติกเหล่านี้จะมาหลอกหลอนเราในรูปของสารพิษยาวเหยียดจนมีลิสต์ที่เรียกว่า Presistant Organic Pollutants (POPs) ซึ่งมีทั้งสารก่อมะเร็ง ทำลายระบบประสาท มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก โรคหอบหืด และทำร้ายอวัยวะต่างๆในร่างกาย ทั้งคนและสัตว์ในพื้นที่

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเตาเผาพลาสติกให้กลับมาเป็นพลังงาน แต่ยังเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูงและต้องอาศัยการจัดการขยะต้นทางที่ถูกวิธีจึงจะคุ้มค่า เทคโนโลยีนี้จึงยังไม่ถูกนำมาใช้มากนักในเมืองไทยเพราะเราไม่ได้แยกขยะกันให้ดีตั้งแต่แรก

47375808_280047952559461_8527642387793575936_o.jpg

พลาสติกถ้าไม่ถูกฝังกลบหรือเผา ส่วนหนึ่งก็จะหลุดรอดลงไปในทะเลพันเข้ากับแมวน้ำ วาฬ เต่า นกทะเลและสัตว์น้ำอื่นๆก็กินเข้าไปก็ป่วยและสุขภาพอ่อนแอลง หรือบางตัวก็ตายในที่สุดอย่างที่เราเห็นกัน

ส่วนพลาสติกที่ลอยคออยู่พอโดนแดดและกระแสน้ำนานๆเข้าก็แตกตัวกลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กหรือ microplastic ที่สุดท้ายก็สะสมในแพลงต์ตอนและปลาต่างๆ และกลับมาหลอกหลอนเราในจานอาหาร

จากการศึกษาสิ่งมีชีวิตต่างๆในอเมริกาพบว่า 67% ของสิ่งมีชีวิตที่กินได้พบไมโครพลาสติกเจอปนอยู่ อย่างไทยก็พบไมโครพลาสติกในหอย 2 ฝาประมาณ 3 ชิ้นต่อตัว จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะมีรายงานพบไมโครพลาสติกในอุนจิของมนุษย์อย่างเราๆด้วย

47572915_280047919226131_962660509297934336_o.jpg

พลาสติกที่คนใช้ดูแลดี จัดการพิธีทิ้งอย่างถูกต้อง ล้างให้สะอาด คัดแยกประเภท ก็จะได้ไปฝุดไปเกิดอีกครั้งโดยการเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล 

อย่างขวดน้ำดื่ม (PET) ถ้าสะอาดก็สามารถนำไปรีไซเคิลกลับมาเป็นขวดน้ำได้อีกครั้งแล้วครั้งเล่า (แต่ในไทยกฎหมายยังไม่อนุญาตให้ขวดน้ำผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล แต่มีการผลิตขวดน้ำจากพลาสติกรีไซเคิลแล้ว 100% ในบางประเทศ) 

พลาสติกบางประเภทก็รีไซเคิลแล้วมีคุณภาพต่ำลงเป็นวัสดุอย่างอื่น เช่น กระถางต้นไม้ หรือถุงขยะ แต่ก็ยังดีกว่ามันถูกทิ้งไปเลยโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร

หากจำเป็นต้องใช้พลาสติกจริงๆ อย่าลืมจัดพิธีกรรมให้มันอย่างดี ล้างให้สะอาด คัดแยกให้ดี ทิ้งให้ถูกที่ สิริมงคลแน่นอน
ผีพลาสติกจะไม่มาหลอกเราจ้า